ผนังบ้านนับเป็นองค์ประกอบสำคัญของบ้าน ช่วยกั้นขอบเขตการใช้งาน ปกป้องบ้านจากแสงแดดและลมฝน รวมทั้งช่วยให้ผู้อยู่อาศัยมีความปลอดภัยมากยิ่งขึ้น สำหรับการสร้างบ้านในประเทศไทยมีวัสดุก่อผนังให้เลือกหลายชนิด เริ่มจากการก่อผนังอิฐ, ผนังไม้, ผนังพรีคาสท์, ผนังหล่อคอนกรีต และน้องใหม่มาแรงเป็นที่ถูกถามถึงกันอย่างมากกับนวัตกรรม “บ้านโฟม” เราจะพาไปรู้จักกับบ้านผนังโฟมอย่างเจาะลึก จะมีคุณสมบัติอย่างไร เหมาะกับการสร้างบ้านมากน้อยแค่ไหน อ่านรายละเอียดกันได้เลยครับ
เปลี่ยนจากผนังอิฐมาใช้ผนังโฟม EPS
ผนังโฟมและเล็งเห็นว่านวัตกรรมดังกล่าวนี้เหมาะกับนำมาใช้ร่วมกับการสร้างบ้านทั่วไป โดยปกติผนังโฟมเป็นที่นิยมอยู่แล้วในต่างประเทศ ส่วนประเทศไทยยังใช้กันในวงแคบ อาทิ คอนโดมิเนียม, โรงงาน, อาคารสูง, และงานต่อเติมทุกประเภท ส่วนบ้านสร้างใหม่ยังมีให้เห็นน้อยอาจเป็นเพราะคนส่วนใหญ่ยังไม่รู้จัก จึงไม่รู้ว่ามีคุณสมบัติดีอย่างไร คุณเต้ยจึงเสนอให้คุณป้าใช้ผนังโฟม พร้อมกับบอกเล่าคุณสมบัติต่าง ๆ ให้คุณป้าและคนในครอบครัวฟัง สรุปบ้านหลังนี้จึงกลายเป็นบ้านโฟมทั้งหลัง ทั้งส่วนของผนัง, พื้น, ห้องน้ำและเคาน์เตอร์ครัวไปในที่สุด
5 คุณสมบัติเด่น ข้อดีของบ้านโฟม
1. ติดตั้งเร็ว ประหยัดเวลาการก่อสร้าง (Faster)
ด้วยขนาดของโฟมที่มีแผ่นใหญ่กว่าอิฐมอญและอิฐมวลเบามาก การติดตั้งผนังจึงสามารถทำได้อย่างรวดเร็ว หลักการก่อผนังเบื้องต้นใช้หลักการเดียวกับการก่อผนังอิฐ โดยทำการยึดผนังเข้ากับเสาคานและทับหลังโครงสร้างเหล็ก ช่วยให้การดำเนินงานรวดเร็วกว่าผนังอิฐมาก เมื่อระยะเวลาถูกลดลงไป ต้นทุนด้านแรงงานย่อมถูกลงตามลำดับ
2. บ้านโฟมน้ำหนักเบา (Light Weight)
อย่างที่ทราบกันดีแล้วว่า วัสดุโฟมจัดเป็นวัสดุที่มีน้ำหนักเบา ยิ่งหากนำมาเทียบกับอิฐมอญและอิฐมวลเบา โฟมจะเบากว่าหลายเท่าตัว ด้วยคุณสมบัติดังกล่าวนี้เองจึงทำให้การออกแบบบ้านสามารถลดภาระโครงสร้างบ้านไปได้มาก ยิ่งหากเป็นงานต่อเติมจะยิ่งสำคัญมาก เพราะโดยปกติแล้ววิศวกรไม่ได้ออกแบบโครงสร้างเผื่อน้ำหนักไว้ การนำผนังโฟมมาใช้ในงานต่อเติมจึงเหมาะสมกว่าผนังอิฐที่มีผลกับน้ำหนักอาคาร
3. บ้านโฟม ผนังบ้านเย็น (Cool)
คุณสมบัตินี้นับเป็นจุดสำคัญสำหรับการสร้างบ้านสมัยใหม่ บ้านที่ดีควรมีอุณหภูมิที่เหมาะสมไม่ร้อนอบอ้าวจนเกินไป สำหรับวัสดุประเภทอิฐต่าง ๆ จะมีคุณสมบัติดูดซับและอมความร้อน ส่วนโฟมมีคุณสมบัติเป็นฉนวนกันร้อนพร้อมกับสามารถเก็บความเย็นได้นาน เราจึงได้เห็นการนำโฟมไปใช้ร่วมกับถังใส่น้ำแข็ง, ห้องเย็น, หรืออุปกรณ์ต่าง ๆ ที่ใช้สำหรับเก็บความเย็น จากการได้ไปสัมผัสบ้านคุณป้าเล้ง ทีมงานอยู่ถึงเที่ยง แสงแดดภายนอกร้อนจัดมาก แต่เมื่อเข้าภายในบ้านเย็นสบายอย่างเห็นได้ชัดครับ
4. ยืดหยุ่นในการต่อเติม (Flexibility)
กาลเวลาผ่านไปความต้องการในการอยู่อาศัยย่อมมีการเปลี่ยนแปลง หลายบ้านจึงมีการต่อเติมภายหลัง หากเป็นบ้านอิฐการต่อเติมหรือปรับบางส่วนใหม่ จำเป็นต้องทุบรื้อผนังออก ก่อให้เกิดมลพิษด้านเสียง ฝุ่นละออง ส่งผลให้ช่วงต่อเติมไม่สามารถอยู่อาศัยภายในบ้านหลังดังกล่าวได้ รวมทั้งการแบกรับน้ำหนักที่มากขึ้นอาจส่งผลกระทบกับโครงสร้างบ้าน แต่สำหรับผนังโฟมสามารถรื้อถอนได้โดยง่าย ต่อเติมเพิ่มสะดวก น้ำหนักเบาจึงไม่เป็นภาระกับโครงสร้างเดิม
5. ง่ายต่อการออกแบบโครงสร้างต้านแผ่นดินไหว (Easy Design Earthquake Resistant Structures)
การสร้างอาคารเพื่อรองรับกับแผ่นดินไหว เป็นอีกหนึ่งความสำคัญที่ไม่อาจมองข้ามได้ สำหรับวัสดุโฟมนอกจากจะมีความเบาไม่เป็นภาระต่อน้ำหนักอาคารแล้ว หากมีแรงสั่นสะเทือนโฟมจะมีความยืดหยุ่น กรณีใช้วัสดุอิฐเมื่อมีการสั่นสะเทือนอาจส่งผลให้ผนังอิฐพังลงมาได้ทันที แต่ผนังโฟมมีน้ำหนักเบาจึงมีผลกับแรงสั่นสะเทือนน้อยกว่าผนังชนิดอื่น อีกทั้งองค์ประกอบด้านความยืดหยุ่นและใช้ร่วมกับงานโครงสร้างเหล็กหรือคอนกรีต บ้านผนังโฟมจะไม่ล้มลงมาได้โดยง่าย ปัจจุบันประเทศญี่ปุ่นจึงนิยมใช้โฟมเป็นวัสดุก่อสร้างอาคารกันมากขึ้น
นอกจาก 5 คุณสมบัติเด่นนี้แล้ว ยังมีคุณสมบัติย่อยอื่น ๆ อีกมากมาย อาทิ กันเสียง, กันความชื้น, ทนต่อกรด ด่าง, ออกแบบอาคารให้ลอยน้ำได้ สามารถนำมาใช้ในการก่อสร้างได้ทุก ๆ องค์ประกอบของบ้าน
เริ่มจากการทุบของเดิมออก
สำหรับบ้านคุณป้าเล้ง อย่างที่เกริ่นนำไปข้างต้น บ้านหลังดังกล่าวเดิมทีต้องการสร้างเป็นบ้านผนังอิฐ แต่ด้วยกระบวนการก่อสร้างที่ไม่ได้มาตรฐานแค่เพียงผลักผนังที่ก่อไว้แล้วอิฐก็ล้มลงมาได้ รวมทั้งผู้รับเหมาเดิมได้หนีงานไป สิ่งแรกที่ต้องทำก่อนการก่อสร้างคือทุบของเดิมออกทั้งหมด เพราะงานที่ไม่ได้มาตรฐานอาจส่งผลร้ายแรงกับผู้อยู่อาศัยได้
ผนังเดิมไม่ได้มาตรฐาน จึงทุบผนังเดิมทิ้งออกทั้งหมด
บ้านผนังโฟมสร้างเสร็จไว
เมื่อทุบของเก่าออกหมดแล้ว ทำการติดตั้งผนังโฟมเข้าไปใหม่ โดยบ้านหลังดังกล่าวนี้เลือกใช้วัสดุโฟม EPS ทั้งหมด เริ่มจากงานพื้น, ผนังบ้าน, เคาน์เตอร์ครัว, ห้องน้ำ อาจเรียกโดยรวมได้ว่าเป็นบ้านโฟมทั้งหลัง แต่ผิวสัมผัสภายนอกยังคงฉาบปูน ทาสีได้ตามปกติ โดยมีกระบวนการติดตั้งเบื้องต้น ดังนี้
ติดตั้งโครงสร้างเหล็ก เสา คาน ทับหลัง
ติดตั้งโฟม EPS (ความหนา 3 นิ้วขึ้นไป)
ติดตั้งเหล็กตะแกรง เพื่อใช้สำหรับยึดประสานกับปูนซีเมนต์
ทาน้ำยาเคลือบผิวเพื่อให้เชื่อมต่อประสานกับปูนได้ดียิ่งขึ้น
ฉาบปูนซีเมนต์ตามปกติ
สาธิตการฉาบปูนซีเมนต์
ในส่วนของบ้านคุณป้าเล้ง เน้นออกแบบเรียบง่าย ด้านหน้าออกแบบเป็นระเบียงกว้างประมาณ 2 เมตร มีที่นั่งไว้เอนหลังเพื่อความผ่อนคลาย ภายในบ้านแบ่งเป็น 2 ห้องนอน 1 ห้องน้ำ 1 ห้องรับแขกและ 1 ห้องพระ เมื่อเข้าภายในบ้านแล้วจะพบกับห้องรับแขก ปูพื้นด้วยแผ่นแกรนิตโต้สีขาว ทาสีเหลืองอ่อนทั้งหลัง
เคาน์เตอร์ครัว เป็นอีกส่วนที่ใช้แผ่นโฟม ทั้งส่วนของฐานตั้งและฐานท็อปครัว คุณเต้ยเล่าให้ฟังว่า ส่วนสำคัญของการรับน้ำหนักอยู่ที่โครงสร้างเหล็กภายใน สามารถวางท็อปหินได้ สามารถใช้งานหนัก ๆ แบบครัวไทยได้ไม่ต่างไปจากครัวปูนเลย ที่สำคัญกันความชื้นไม่ก่อให้เกิดเชื้อรา
การยึด แขวนอุปกรณ์ต่าง ๆ ก็สามารถทำได้ ในตัวอย่างห้องน้ำดังกล่าวนี้เป็นผนังโฟมทั้งหมด กรณีแขวนอุปกรณ์ที่น้ำหนักไม่มาก เช่น กรอบรูปภาพ สามารถทำได้เลย แต่หากเป็นการแขวนอุปกรณ์ที่มีน้ำหนักมาก เช่น ตู้ครัว, อ่างล้างหน้า แนะนำให้ทำโครงเหล็กรองรับไว้ครับ
5 คำถามที่อาจสงสัยเกี่ยวกับบ้านโฟม
เป็นเรื่องปกติที่นวัตกรรมใหม่จะก่อให้เกิดสารพัดคำถามในการใช้งาน ผู้เขียนเองก็ไม่ต่างกับผู้อ่านครับ ในโอกาสนี้จึงคัดสรรคำถามต่าง ๆ มาถามคุณเต้ย เพื่อให้ได้คำตอบที่ชัดเจนมากที่สุดเท่าที่จะมากได้
บ้านโฟม กันไฟไหม ?
ตอบ : โฟม EPS มีความหนาแน่นสูง มีคุณสมบัติไม่ลามไฟ หากนำไฟมาเผาตรง ๆ ไฟจะไหม้เฉพาะจุดไม่ลุกลามเพิ่ม ประจวบกับการใช้งานจริงผิวภายนอกจะถูกฉาบด้วยปูนซีเมนต์ ซึ่งมีคุณสมบัติทนไฟได้ประมาณ 2 – 3 ชม. การเกิดไฟไหม้สำหรับบ้านโฟมหากไฟไม่ลุกท่วมสูงหนักก็ไม่ต่างจากบ้านก่ออิฐทั่วไปมากครับ แต่หากไฟลุกท่วมสูง ไม่ว่าบ้านไหน ๆ ก็ไม่เหลือเช่นกัน และหากเปรียบเทียบกับบ้านไม้ บ้านโฟมปลอดภัยต่อไฟไหม้กว่าบ้านไม้หลายเท่า
บ้านโฟม ทนแค่ไหน ?
ตอบ : ด้านความแข็งแรง ทนทาน โฟม EPS เป็นรองแค่อิฐมอญและผนังสำเร็จเท่านั้น หากอยู่อาศัยปกติบ้านโฟมจะทนมากครับ
บ้านโฟม ร้อนไหม ?
ตอบ : วัสดุโฟมโดยปกติจะนำมาใช้เป็นฉนวนกันความร้อนและควบคุมความเย็นให้คงที่ การนำโฟมมาใช้ร่วมกับบ้านจึงช่วยให้บ้านเย็นขึ้นกว่าวัสดุอิฐทุกประเภท อีกทั้งยังช่วยกันเสียง กันความชื้นได้ดี ส่งผลให้ประหยัดค่าไฟมากยิ่งขึ้น
ราคาสร้างบ้านโฟม
ตอบ : ปัจจุบันการสร้างบ้านโฟมมีราคาใกล้เคียงกับบ้านก่ออิฐทั่วไป เนื่องด้วยวัสดุโฟม EPS ยังมีราคาสูง แต่จะช่วยให้เจ้าของบ้านได้อยู่อาศัยเร็วขึ้น การทำงานจะรวดเร็วกว่าบ้านก่ออิฐประมาณเท่าตัว หากเปรียบเทียบกับเวลาที่สูญเสียไปแล้วนับว่าเป็นมูลค่าที่สูง ในมุมของมูลค่าของเวลา บ้านโฟมจึงประหยัดกว่า และหากมีจำนวนผู้ใช้สูงขึ้น อัตราส่วนในอนาคต โฟม EPS อาจมีราคาที่ต่ำลง
บ้านโฟมมีข้อเสียอะไรบ้าง
ตอบ : ข้อเสียหลัก ๆ คือราคาครับ ตามที่แจ้งไว้ในข้อก่อนหน้านี้วัสดุโฟม EPS มีราคาที่สูง ส่งผลให้ราคาบ้านสูงตามวัสดุ และหากต้องการสร้าง จำเป็นต้องใช้ผู้รับเหมาเฉพาะทางที่มีความรู้เรื่องบ้านโฟมโดยเฉพาะ หากเป็นช่างทั่วไปที่ยังคุ้นชินกับบ้านอิฐ ยังไม่สามารถก่อสร้างให้ได้ จำเป็นต้องผ่านกระบวนการเรียนรู้ก่อน บางพื้นที่ก่อสร้างจึงอาจหาผู้รับเหมาสร้างบ้านโฟมไม่ได้
บ้านสวยโคราช: บ้านผนังโฟม วัสดุสร้างบ้านเย็นประหยัดพลังงาน อ่านบทความเพิ่มเติมคลิ๊กที่นี่ https://homes-realestate.com/