สถิติโรคมะเร็งตับในประเทศไทย จริงหรือที่โรคมะเร็งตับ ยังรักษาไม่ได้ผลดี?
จากข้อมูลสถิติโรคมะเร็งจากสถาบันมะเร็งแห่งชาติในปี 2556 – 2558 พบว่ามะเร็งตับปฐมภูมิ (Hepatocellular carcinoma ; HCC) เป็นโรคมะเร็งที่พบได้บ่อยเป็นอันดับที่ 1 ในเพศชาย (34%) และเป็นอันดับที่ 2 ในเพศหญิง (13%)
ผู้ป่วยส่วนใหญ่ มักได้รับการวินิจฉัยเมื่ออายุ 40-70 ปี เนื่องจากอาการของมะเร็งตับมักไม่เฉพาะเจาะจง และมีการดำเนินโรคที่รวดเร็ว จึงทำให้แพทย์วินิจฉัยผู้ป่วยได้เมื่อมีอาการมากแล้ว ทำให้ผลการรักษาไม่ดีเท่าที่ควร ส่งผลให้จัดเป็นโรคมะเร็งที่เป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับ 1 ในประเทศไทย
โรคมะเร็งตับ เกิดจากอะไร และปัจจัยเสี่ยงในการเกิดโรค
1. การติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบีเรื้อรัง
ประมาณกันว่าร้อยละ 60 ของ มะเร็งตับ ในคนไทยนั้น เกิดจากการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบีแบบเรื้อรัง โดยคนไทยมีผู้ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบีอยู่ประมาณ 6 ล้านราย และผู้ป่วยที่มีปริมาณเชื้อไวรัสตับอักเสบบีสูง ทำให้เกิดภาวะตับอักเสบ และตับแข็งตามมาได้สูงกว่า รวมถึงมีโอกาสเกิดโรคมะเร็งตับได้สูงถึง 3-8% ต่อปี
ดังนั้นหากเคยได้รับการวินิจฉัยว่ามีการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบี ควรได้รับการตรวจเป็นประจำ ปัจจุบันมีการรักษาด้วยยาต้านไวรัสซึ่งได้ผลดี ช่วยลดความเสี่ยงในการเป็นตับแข็ง และมะเร็งตับได้ นอกจากนี้การตรวจคัดกรอง และฉีดวัคซีนป้องกันการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบี เป็นวิธีการที่ได้ประโยชน์ในการป้องกันโรค อ่านข้อมูลเพิ่มเติม
2. การติดเชื้อไวรัสตับอักเสบซีเรื้อรัง
เป็นสาเหตุที่พบบ่อยที่สุดสำหรับประเทศฝั่งตะวันตก สำหรับในประเทศไทย พบว่าเป็นสาเหตุของมะเร็งตับร้อยละ 10-20 ผู้ที่มีความเสี่ยง ได้แก่ คนที่มีประวัติฉีดยาเสพติดเข้าเส้นเลือด คนที่ได้รับเลือดก่อนปี 2532 หรือการเจาะ/สักตามตัวโดยใช้เข็มที่ไม่สะอาด ทำให้มีโอกาสรับเชื้อไวรัสตับอักเสบซีเข้าสู่ร่างกาย
การติดเชื้อไวรัสตับอักเสบซี จะทำให้ผู้ป่วยมีภาวะตับอักเสบเรื้อรัง เกิดพังผืดในตับ กลายเป็นโรคตับแข็ง ซึ่งมีผลทำให้การทำงานของตับผิดปกติ และเพิ่มความเสี่ยงในการเป็นโรคมะเร็งตับได้เช่นเดียวกัน ดังนั้นหากเคยได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคไวรัสตับอักเสบซี ควรได้รับการตรวจประเมิน เนื่องจากปัจจุบันมียาต้านไวรัสที่ให้ผลการรักษาดีเยี่ยม สามารถหายขาดได้ และลดความเสี่ยงในการเป็นมะเร็งตับได้
3. ภาวะตับแข็งจากสาเหตุต่างๆ
เช่น การดื่มสุราเป็นประจำ ภาวะไขมันเกาะในตับ เป็นต้น ผู้ป่วยกลุ่มนี้มักมีเอนไซน์ตับ (AST, ALT) สูงกว่าปกติจากภาวะตับอักเสบเรื้อรัง ส่งผลให้การทำงานของตับแย่ลงเรื่อยๆ จนเกิดภาวะตับแข็ง และตับวายเรื้อรัง ผู้ป่วยมักมีอาการตัวเหลืองตาเหลือง (ดีซ่าน) ท้องมานจากการมีน้ำในช่องท้อง มีอาการทางสมองจากภาวะตับวาย และผู้ป่วยกลุ่มนี้มีความเสี่ยงสูงที่จะพบโรคมะเร็งตับได้เช่นกัน จึงเป็นที่มาให้ผู้ป่วยที่มีภาวะตับแข็งควรตรวจคัดกรองด้วยอัลตราซาวนด์ช่องท้องเป็นประจำทุกๆ 6 เดือน
4. ภาวะไขมันเกาะในตับ (Non-alcoholic fatty liver disease ; NAFLD)
พบได้บ่อยมากขึ้นเรื่อยๆ อันเป็นผลมาจากลักษณะนิสัยของคนในปัจจุบันที่ออกกำลังกายน้อยลง กินอาหารที่มีแคลอรี่สูง และมีภาวะโรคอ้วน ซึ่งก็ส่งผลทำให้เกิดภาวะตับแข็ง และมะเร็งตับได้เช่นกัน ซึ่งจำนวนผู้ป่วยมะเร็งตับที่เกิดจากสาเหตุนี้เพิ่มสูงขึ้นทุกๆปี อ่านข้อมูลเพิ่มเติม
สำหรับผู้ป่วยที่สงสัยภาวะพังผืดในตับ หรือตับแข็งในระยะเริ่มต้น บางครั้งอาการทางคลินิกมักมีอาการน้อย หรือไม่ชัดเจน ปัจจุบันสามารถตรวจวิเคราะห์ได้ด้วยเครื่อง Fibroscan ซึ่งเป็นเครื่องมือสำหรับตรวจหาพังผืดในตับ สามารถช่วยติดตามการดำเนินโรคแก่ผู้ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบีและซีเรื้อรังได้ โดยไม่ต้องเจาะชิ้นเนื้อตับตรวจ และสามารถตัดสินใจให้การรักษาได้อย่างทันท่วงที นอกจากนี้ Fibroscan ยังสามารถตรวจหาภาวะไขมันสะสมในตับได้อีกด้วย อ่านข้อมูลเพิ่มเติม
อาการมะเร็งตับ
ผู้ป่วยส่วนใหญ่ มักได้รับการวินิจฉัยเมื่ออายุ 40-70 ปี เนื่องจากอาการของโรคมะเร็งตับมักไม่เฉพาะเจาะจง และมีการดำเนินโรคที่รวดเร็ว จึงทำให้แพทย์วินิจฉัยผู้ป่วยได้เมื่อมีอาการมากแล้ว โดยถ้าการทำงานของตับแย่ลง จนเกิดภาวะตับแข็งและตับวายเรื้อรัง ทำให้ผู้ป่วยมักมีอาการดังนี้
ตัวเหลือง ตาเหลือง (ดีซ่าน)
ท้องมานจาการมีน้ำในช่องท้อง
มีอาการทางสมอง จากภาวะตับวาย
ผู้ป่วยกลุ่มที่เป็นโรคตับแข็ง ตับวายเรื้อรัง ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบีและซีเรื้อรัง มีความเสี่ยงสูงที่จะพบโรคมะเร็งตับได้เช่นกัน
การรักษามะเร็งตับ
1. การผ่าตัดรักษามะเร็งตับ (Surgery)
เป็นทางเลือกอันดับแรก เพราะทำให้ผู้ป่วยมีโอกาสหายขาดจากมะเร็งได้ โดยพิจารณาในกรณีผู้ป่วยที่การทำงานของตับที่ยังดีอยู่ ขนาดของมะเร็งตับไม่เกิน 5 เซนติเมตร และไม่มีการกระจายของมะเร็งไปยังเส้นเลือดใกล้เคียงหรืออวัยวะอื่นๆ ซึ่งเป็นกลุ่มที่ได้ประโยชน์จากการผ่าตัดมากที่สุด
2. การผ่าตัดเปลี่ยนตับ (Liver transplantation)
พิจารณาในผู้ป่วยมะเร็งตับที่มีตับแข็งร่วมด้วย เพราะสามารถรักษามะเร็งตับและตับแข็งในเวลาเดียวกัน แต่การรักษาด้วยวิธีนี้จะได้ผลดีก็ต่อเมื่อมะเร็งมีขนาดเล็ก และยังไม่มีการลุกลามไปยังอวัยวะใกล้เคียง เพราะหากก้อนมีขนาดใหญ่มักเกิดการกลับเป็นซ้ำของมะเร็งภายหลังการเปลี่ยนตับสูง การผ่าตัดเปลี่ยนตับในประเทศไทยแม้ว่าจะได้ผลดี แต่ยังมีจำนวนผู้ป่วยที่รักษาด้วยวิธีนี้ไม่มากนัก เนื่องจากค่าใช้จ่ายสูง และมีข้อจำกัดเกี่ยวกับผู้บริจาคตับ
3. การรักษามะเร็งตับโดยใช้คลื่นความถี่สูง (Radiofrequency ablation ; RFA)
ซึ่งคลื่นความถี่สูงนี้ไปเปลี่ยนเป็นพลังงานความร้อนทำลายเซลล์มะเร็งตับ วิธีนี้จะได้ผลดีในก้อนมะเร็งตับที่มีขนาดไม่ใหญ่เกินไป โดยทั่วไปควรมีขนาดเล็กกว่า 3 เซนติเมตร และอยู่ห่างจากหลอดเลือดขนาดใหญ่
4. การรักษามะเร็งตับโดยวิธี Transarterial Chemoembolization (TACE) หรือ Transarterial radioembolization (TARE)
เป็นการรักษาโดยการใช้การฉีดยาเคมีบำบัด หรือสารเภสัชรังสีเข้าไปยังก้อนมะเร็งโดยตรง สามารถทำลายเซลล์มะเร็ง และมีการฉีดสารอุดหลอดเลือดทำให้มะเร็งขาดเลือดไปเลี้ยง ผู้ป่วยที่เหมาะกับการรักษาด้วยวิธีนี้ ได้แก่ ผู้ป่วยที่ไม่สามารถรักษาโดยวิธีก่อนหน้าได้ เนื่องจากก้อนมะเร็งมีขนาดใหญ่ หรือก้อนอยู่ชิดกับอวัยวะที่สำคัญจึงไม่สามารถผ่าตัดได้ แต่อย่างไรก็ตามผู้ป่วยจะต้องมีการทำงานของตับที่ไม่แย่จนเกินไป เนื่องจากการอุดหลอดเลือดบางส่วน อาจส่งผลทำให้ตับทำงานแย่ลงชั่วคราวได้ โดยผลการรักษาสามารถทำให้ผู้ป่วยมีอายุยืนยาวขึ้น
5. การให้ยาเคมีบำบัด (Systemic chemotherapy)
พิจารณาในผู้ป่วยที่ไม่ตอบสนองต่อการรักษาดังกล่าวข้างต้น ทางเลือกของการรักษาในปัจจุบัน ได้แก่ ยาเคมีบำบัดชนิดมุ่งเป้า (Targeted chemotherapy) ยาชนิด Immunotherapy ซึ่งแพทย์จะพิจารณาแก่ผู้ป่วยเป็นกรณีๆ ไป อ่านข้อมูลเพิ่มเติม
ปัจจุบันการรักษาโรคมะเร็งตับมีทางเลือกหลากหลาย ขึ้นอยู่กับระยะของโรค ขนาดของก้อน และสภาพการทำงานของตับของผู้ป่วย โดยแพทย์และผู้ป่วยจะร่วมกันพิจารณาเลือกวิธีการรักษา เพื่อให้ได้ประสิทธิภาพสูงที่สุด ผลการรักษาโรคมะเร็งตับในปัจจุบันดีขึ้นกว่าแต่ก่อนมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในผู้ป่วยรายที่พบมะเร็งในระยะแรกเริ่ม มีโอกาสหายขาดได้ ดังนั้นการตรวจคัดกรองด้วยอัลตราซาวนด์ช่องท้องเป็นประจำ สำหรับผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงสูงในการเกิดโรคมะเร็งตับจึงมีความสำคัญมาก
การป้องกัน มะเร็งตับ
สำหรับคนทั่วไป หากทราบวิธีการปฏิบัติตัวอย่างถูกต้อง ก็สามารถลดปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ที่ส่งผลให้เกิดมะเร็งตับ เช่น
ตรวจคัดกรองโรคไวรัสตับอักเสบบีและซี
หลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
ควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม
การฉีดวัคซีนป้องกันไวรัสตับอักเสบเอและบี
โรคมะเร็งตับ เกิดจากอะไร และปัจจัยเสี่ยงในการเกิดโรค อ่านบทความเพิ่มเติมคลิ๊กที่นี่ https://doctorathome.com/disease-conditions/109