การดูแลเท้าและเล็บเท้าในคนไข้โรคเบาหวาน การดูแลเท้าและเล็บเท้าในคนไข้เบาหวาน (Diabetic Podiatry) คนไข้โรคเบาหวานเกิดแผลที่เท้าได้ง่าย การตัดเล็บเท้าไม่ถูกวิธีหรือการดูแลเท้าได้ไม่ดี อาจเป็นสาเหตุใหญ่ของการตัดนิ้วหรือตัดเท้าได้
ถ้าการตัดเล็บเท้าไม่ถูกวิธีหรือการดูแลเท้าได้ไม่ดี โดยเฉพาะในคนไข้เบาหวาน อาจเป็นสาเหตุใหญ่ของการตัดนิ้วหรือตัดเท้าได้ในอนาคต การดูแลและให้ความรู้เรื่องเล็บเท้าอย่างถูกวิธีจะช่วยปัองกันได้ในระดับหนึ่งไม่ให้เกิดบาดแผลจากภาวะแทรกซ้อน อาการเจ็บปวด มีปัญหาเวลาเดิน การดูแลเรื่องเล็บขบที่เกิดจากการตัดเล็บไม่ถูกวิธีก็เช่นกัน
สาเหตุที่คนไข้โรคเบาหวานเกิดแผลที่เท้าได้ง่าย
เกิดจากเส้นประสาทส่วนปลายเสื่อม ส่งผลให้ผิวหนังบริเวณส่วนขาแห้งและมีอาการคัน ทำให้คนไข้ต้องเกาและส่งผลให้แผลแตกและเกิดการติดเชื้อได้ง่าย อีกกรณีหนึ่งคือเมื่อคนไข้มีความรู้สึกที่เท้าลดลงขณะเดินก็จะเกิดบาดแผลได้ง่าย กว่าจะรู้ตัวแผลอาจเกิดการติดเชื้อและลุกลามแล้วทำให้ยากต่อการรักษา ในกรณีรุนแรงอาจถึงกับต้องตัดขาในคนไข้บางราย
วิธีการดูแลเท้าของผู้ป่วยโรคเบาหวาน
ล้างเท้าด้วยน้ำธรรมดาและสบู่ที่อ่อนโยนต่อผิวทุกวันหลังจากอาบน้ำ ไม่แนะนำให้ใช้แปรงขนแข็งขัดเท้า
ทำการซับเท้าให้แห้งโดยเฉพาะบริเวณซอกนิ้วเท้า ด้วยผ้าที่สะอาดและนุ่ม เช่น ผ้าขนหนู เป็นต้น
ตรวจดูเท้าทุกวันและสังเกตว่ามีอาการผิดปกติไหม เช่น ปวด บวม มีแผล รอยช้ำ ผิวเปลี่ยนสี หรือเม็ดพอง เป็นต้น ควรตรวจให้ทั่วทั้งฝ่าเท้า ส้นเท้า (สามารถใช้กระจกส่องหากมองไม่เห็น) รวมถึงซอกระหว่างนิ้วและรอบเล็บเท้า หากพบความผิดปกติควรรีบปรึกษาแพทย์
แนะนำให้สวมรองเท้าตลอดเวลาทั้งในและนอกบ้าน เนื่องจากการสวมรองเท้าจะช่วยป้องกันการเกิดแผล และควรตรวจสอบด้านในรองเท้าหาสิ่งแปลกปลอมที่อาจส่งผลให้เกิดแผลได้ เช่น กรวด ทราย ก่อนสวมรองเท้าทุกครั้ง การเกิดแผลถึงแม้จะมีขนาดที่เล็กมากหรือเกิดรอยถลอกจากการถูกของแข็ง ก็อาจส่งผลให้เกิดแผลที่จะหายช้า
รองเท้าที่สวมใส่ควรถูกสุขลักษณะ ควรมีพื้นผิวที่นิ่ม มีขนาดพอดี ไม่คับหรือหลวมจนเกินไป เพราะจะทำให้เกิดการเสียดสีและกลายเป็นแผลในที่สุด
ควรทำการตัดเล็บเท้าด้วยความระมัดระวัง และควรตัดเล็บเท้าด้วยการตัดขวางเป็นเส้นตรงให้พอดีกับเนื้อ หากผู้ป่วยมีปัญหาด้านสายตา ควรให้ผู้อื่นช่วยตัดเล็บให้
ควรทาโลชั่นที่เท้า เพราะจะช่วยลดความแห้งแข็งของผิวหนัง แต่ควรหลีกเลี่ยงการทาระหว่างซอกนิ้วเท้า
การออกกำลังบริเวณขาและเท้าอย่างสม่ำเสมอ อย่างน้อยวันละ 15 นาที เป็นสิ่งที่ควรทำ เพราะจะช่วยให้เกิดการไหลเวียนของเลือดที่ดีขึ้น
ไม่ควรตัดเล็บเท้าเองหากมีผิวหนังที่หนา หรือมีตาปลา ควรให้ผู้ชำนาญการตัดเล็บเท้าให้บางและตัดทุก 6-8 สัปดาห์
หากเกิดบาดแผล จำเป็นต้องได้รับการรักษาโดยเร็ว
พฤติกรรมที่ควรหลีกเลี่ยง
ควรหลีกเลี่ยงการสวมรองเท้าปลายแหลม ส้นสูง มีรูเปิด ไม่มีสายรัด หรือไม่หุ้มส้นด้านหลัง
ไม่ควรสวมถุงเท้าที่รัดแน่นจนเกินไป
ไม่ควรใช้กระเป๋าน้ำร้อน หรือเครื่องทำความร้อนประคบหรือเป่าที่เท้า
ควรหลีกเลี่ยงการเดินด้วยเท้าเปล่า โดยเฉพาะการเดินบนทางเดินที่มีอุณหภูมิร้อนจัด แต่หากไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ ควรทำการเดินอย่างระมัดระวัง
ควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาทาตาปลา ยาจี้หูด หรือมีดโกนกับเท้าด้วยตนเอง ควรทำการปรึกษาแพทย์ก่อนทุกครั้ง
แนะให้ลดหรือควบคุมน้ำหนักไม่ให้มากเกินเกณฑ์
งดสูบบุหรี่ เพราะสารในบุหรี่จะส่งผลให้หลอดเลือดตีบ และทำให้การไหลเวียนของเลือดไปที่เท้าได้น้อยลง
ไม่ควรสวมเครื่องประดับที่เท้า
ขั้นตอนในการให้บริการเรื่องการตัดเล็บเท้า
ประเมินสภาพและปัญหาเท้า เล็บเท้า เล็บมือของคนไข้เบาหวาน และผู้รับบริการอื่นที่เข้ารับบริการ
แจ้งแนวทางการรักษาตามแผนการรักษา ระยะเวลา และประเมินค่ารักษา
เตรียมอุปกรณ์สำหรับตัดเล็บ
ทำความสะอาดเล็บและเท้าด้วยน้ำเกลือ 0.9%NSS ก่อนทำและหลังทำหัตถการ
ตัดเล็บในลักษณะแนวตรงถูกวิธี และขูดทำความสะอาดผิวบริเวณที่มีเชื้อรา
ภายหลังตัดเล็บเสร็จทำความสะอาดเล็บและเท้า ฝ่าเท้าอีกครั้ง พร้อมทั้งตรวจดูบริเวณซอกนิ้วเท้า ฝ่าเท้า หลังเท้าให้อยู่ในสภาพปกติ
ทาครีมโลชั่นบริเวณเท้าให้ทั่ว โดยไม่ทาบริเวณซอกนิ้ว
แนะนำคนไข้และญาติถึงวิธีการดูแลและตัดเล็บให้ถูกวิธี
การประเมินหลังการทำหัตถการ
ผู้ป่วยได้รับการตัดเล็บอย่างถูกวิธี สะอาด เรียบร้อย และไม่พบภาวะแทรกซ้อนหลังทำหัตการ เช่น เลือดออกหรือบาดแผล ในการตัดเล็บเท้า จำเป็นต้องมีคำสั่งจากแพทย์ และถ้าพบปัญหาเรื่องเท้าหรือเล็บเท้าที่นอกเหนือจากการบริการของเราแล้ว จะมีการแจ้งแพทย์ทุกครั้ง เพื่อทำการส่งต่อให้แพทย์เฉพาะทางทำการรักษาต่อไป