COVID-19! OMICRON ทำไมถึงต้องจับตามอง?ไวรัสโควิดกลายพันธุ์ที่กำลังเป็นที่สนใจตัวล่าสุด ณ ขณะนี้ COVID สายพันธุ์ Omicron (B.1.1.529) หรือเรียกกันว่า “โอมิครอน” (หรืออาจได้ยินในชื่อ โอไมครอน) เพราะอะไรทั่วโลกต่างให้ความสนใจไวรัสสายพันธุ์นี้? สายพันธุ์โอมิครอน ถ้าติดแล้วอาการจะรุนแรงไหม? จะมาแทนที่สายพันธุ์เดลต้า (Delta) หรือเปล่า? เชื้อสายพันธุ์นี้ดื้อต่อวัคซีน ดื้อต่อยาไหม? การวินิจฉัยทำได้อย่างไร? และเราจะต้องดูแลตัวเองต่างไปจากเดิมอย่างไรบ้าง?
โอมิครอน (Omicron) โควิดสายพันธุ์น่ากังวล แพร่เชื้อเร็ว
COVID สายพันธุ์โอมิครอน หรือ B.1.1.529 ได้ถูกค้นพบโดยนักวิทยาศาสตร์ชาวแอฟริกา โดยพบว่ามีการแพร่ระบาดไปตามจุดต่างๆ ทั่วโลก หลายประเทศตรวจพบผู้ติดเชื้อสายพันธุ์นี้ภายในไม่กี่วัน โดยพบผู้ติดเชื้อจากทั้งคนที่เคยไปแอฟริกา และไม่เคยไปแอฟริกา ปัจจุบันพบผู้ติดเชื้อในกว่า 57 ประเทศทั่วโลก (ข้อมูลจาก WHO ณ วันที่ 9 ธันวาคม 2564)
COVID โอมิครอน โควิดสายพันธุ์ที่ทั่วโลกต่างให้ความสนใจ
องค์กรอนามัยโลก (WHO) ได้ยกระดับสายพันธุ์โอมิครอนเป็นสายพันธุ์ระดับที่น่ากังวล (Variants of Concern: VOC) ภายใน 24 – 48 ชั่วโมง ภายหลังจากที่มีการตรวจพบการแพร่ระบาด ซึ่งต่างจากสายพันธุ์ Epsilon (B.1.427 / B.1.429) หรือสายพันธุ์ Lampda (C.37) ที่เป็นเพียงสายพันธุ์ที่ต้องให้ความสนใจ (Variants of Interest: VOI)
เนื่องจากมีความเป็นไปได้สูงที่จะเป็นสายพันธุ์หลักที่มีการแพร่ระบาดและอาจมาแทนที่สายพันธุ์เดลต้าได้ โดยพบว่าสายพันธุ์โอมิครอนนี้มีการกลายพันธุ์หลายตำแหน่ง โดยมีตำแหน่งที่สำคัญอยู่ 2 ตำแหน่ง คือ
การกลายพันธุ์บริเวณ Spike Protein หรือตำแหน่งโปรตีนตรงส่วนหนามบนผิวของไวรัส ซึ่งมีความคล้ายคลึงกับการกลายพันธุ์ของสายพันธุ์เบต้า Beta (B.1.351) ทำให้โควิดสายพันธุ์โอมิครอนสามารถหลบเลี่ยงภูมิคุ้มกันและจับกับเซลล์ของมนุษย์ได้ง่ายขึ้น
ซึ่งคำว่า “หลบเลี่ยงภูมิคุ้มกัน” ในที่นี้ หมายถึง คนที่เคยติดเชื้อโควิด-19 มาแล้ว ร่างกายจะมีการสร้างภูมิคุ้มกันตามธรรมชาติขึ้นมา (Innate Immunity) แต่ก็ยังสามารถติดเชื้อโควิดสายพันธุ์นี้ได้
การกลายพันธุ์บริเวณนอก Spike Protein พบการกลายพันธุ์ที่ส่วนตัวรับ (Receptor-binding Domain: RBD) การกลายพันธุ์ที่ตำแหน่งนี้มีความคล้ายคลึงกันกับสายพันธุ์เดลต้า (B.1.617.2) ทำให้เชื้อไวรัสเข้าสู่เซลล์ได้ง่ายขึ้น แบ่งตัวเก่งขึ้น อีกทั้งยังพบปริมาณความเข้มข้นของเชื้อไวรัสในระบบทางเดินหายใจเพิ่มมากขึ้น ซึ่งการกลายพันธุ์ที่ตำแหน่งนี้ส่งผลให้โควิดสายพันธุ์โอมิครอนสามารถแพร่กระจายได้ง่ายและไวขึ้นกว่าสายพันธุ์เดลต้า
หากถามว่าโอมิครอนจะรุนแรงกว่าเดลต้าหรือไม่? ก็คงต้องแบ่งออกเป็น 2 กรณีด้วยกัน
กรณีที่ 1 สำหรับคนที่รับวัคซีนแล้ว ตามการรายงานของ WHO ได้ระบุว่า ผู้ที่ฉีดวัคซีนโควิดแล้วสามารถรับเชื้อได้ แต่แทบจะไม่มีอาการเลย อาการไม่รุนแรง จมูกยังได้กลิ่น ลิ้นสามารถรับรสได้ ซึ่งต่างกันกับผู้ป่วยที่ติดเชื้อสายพันธุ์เดลต้า
กรณีที่ 2 สำหรับพื้นที่ที่มีการพบผู้ป่วยติดเชื้อสายพันธุ์โอมิครอนหนาแน่น เช่น ทวีปแอฟริกา ทั้งนี้เนื่องจากพื้นที่บริเวณนี้มีอัตราการฉีดวัคซีนค่อนข้างน้อยจึงทำให้พบผู้ติดเชื้อจำนวนมาก ซึ่งอาจจะมีการรายงานว่าผู้ป่วยมีอาการรุนแรงหรือมีโรคร่วมอื่นๆ ด้วย ซึ่งจำเป็นที่จะต้องเอามาพิจารณาร่วมด้วย
โดยส่วนตัวแล้ว หมอมีความคิดเห็นว่า สายพันธุ์โอมิครอนนี้จะมีกลุ่มเสี่ยงที่ต้องกังวลอยู่ 2 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มคนที่ไม่เคยรับวัคซีนเลย และกลุ่มผู้ป่วยสูงอายุ ซึ่งเรายังคงต้องรอติดตามข้อมูลกันอย่างใกล้ชิด
โอมิครอน ลดประสิทธิภาพของวัคซีน?
สำหรับเรื่องวัคซีน ตอนนี้ยังไม่มีหลักฐานว่า เชื้อไวรัสดื้อต่อวัคซีน แต่พบว่า คนที่ฉีดวัคซีนแล้ว ยังสามารถติดเชื้อสายพันธุ์โอมิครอนนี้ได้ แต่มีอาการน้อย หรือแทบจะไม่แสดงอาการ วัคซีนยังคงได้ผลในแง่ของการป้องกันความรุนแรงของโรค แต่ลดประสิทธิภาพการป้องกันการติดเชื้อที่เกิดจากวัคซีนได้ ซึ่งคาดว่า จะต้องมีการพัฒนาวัคซีนกันต่อไปให้ทันกับการกลายพันธุ์ (Mutation) ในอนาคต โดยเราอาจจะต้องมีการฉีดวัคซีนกันถี่มากยิ่งขึ้น เนื่องจากร่างกายต้องการระดับภูมิคุ้มกันที่สูงขึ้น เพื่อป้องกันการติดเชื้อสายพันธุ์นี้ โดยให้รับวัคซีนเข็มที่ 3 (Booster Dose) เร็วขึ้นจากเดิม 6 เดือน มาเป็นที่ 3 เดือน ตามคำแนะนำของ WHO
โอมิครอน ดื้อต่อการใช้ยารักษาไหม?
สายพันธุ์โอมิครอนนี้ ยาที่รักษา COVID ยังได้ผลอยู่ไหม? ปัจจุบันยังไม่มีหลักฐานระบุว่า สายพันธุ์นี้ดื้อต่อยาที่ใช้รักษา ต้องรอการรายงานต่อไป เพราะยาฟาวิพิราเวียร์ (Favipiravir) หรือว่า ยาเรมเดซิเวียร์ (Remdesivir) ต่างก็มีกลไกในการออกฤทธิ์ที่บริเวณเชื้อจะเข้าเซลล์และแบ่งตัว ซึ่งใกล้เคียงกับบริเวณที่เกิดการกลายพันธุ์ของเชื้อ (Mutation) สายพันธุ์โอมิครอนนี้
สำหรับประเด็นเกี่ยวกับวิธีในการตรวจวินิจฉัย ก็เป็นอีกประเด็นที่เราต้องให้ความสนใจ โดยในวิธีการวินิจฉัยสามารถแบ่งออกได้เป็น 2 กรณี ดังนี้
การตรวจด้วย RT-PCR (Real Time PCR) การตรวจวินิจฉัยด้วยวิธีนี้คิดว่าไม่แตกต่างจากสายพันธุ์อื่น เราสามารถตรวจ Detect ได้หลายยีน (Genes) และยังไม่พบการกลายพันธุ์ที่ตำแหน่ง N gene กับ ORF gene
การตรวจด้วย Rapid Antigen Test (ATK) สำหรับการตรวจวินิจฉัยด้วยวิธีนี้ขึ้นอยู่กับแต่ละบริษัทว่ามีการทดสอบตรงตำแหน่งส่วนไหนของเชื้อไวรัส หากมีการทดสอบตำแหน่งที่เกิดการกลายพันธุ์ก็จะมีโอกาสเกิดผลลบลวง (False Negative) ได้เยอะขึ้น ซึ่งการเลือกใช้ชุดตรวจ Antigen Test Kit ควรเลือกใช้ชุดตรวจที่ได้มาตรฐาน และดูที่ความไว (Sensitivity) ของชุดตรวจโควิดนั้นด้วย
สามารถดูความแม่นยำของชุดตรวจคัดกรอง Antigen Test Kit โดยดูที่ค่าความไว (Sensitivity), ความจำเพาะ (Specificity), ผลบวกปลอม (False Positive), ผลลบปลอม (False Negative) ของชุดตรวจ โดยชุดตรวจความมีค่าความไว-ความจำเพาะไม่ต่ำกว่า 80%
วิธีตรวจหาเชื้อโควิดโดย Antigen Test Kit ด้วยตัวเอง
ในกรณีที่โควิดสายพันธุ์โอมิครอนเข้ามาแพร่ระบาด เราจะต้องดูแลตัวเองต่างไปจากเดิมอย่างไรบ้าง? หมอขอให้เคร่งครัดใน 3 เรื่องนี้ คือ การฉีดวัคซีน การรับวัคซีนเข็ม 3 และการป้องกันตัวจากการรับเชื้อโควิด
ฉีดวัคซีน ให้ครบ 2 เข็ม – ใครที่ยังไม่เคยได้รับวัคซีน ต้องรีบไปรับวัคซีนทันที
รับวัคซีนเข็ม 3 ด่วน – รับวัคซีนเข็ม 3 หรือ Booster Dose โดยเว้นระยะห่าง 3 เดือน
สวมหน้ากากอนามัยที่ได้มาตรฐาน – หน้ากากต้องแนบสนิทกับใบหน้า
หลีกเลี่ยงการสัมผัสใบหน้า ตา จมูก และปาก – พฤติกรรมเสี่ยงที่ทำให้เชื้อโรคเข้าสู่ร่างกายได้ง่ายยิ่งขึ้น
หมั่นล้างมือบ่อยๆ – ล้างด้วยน้ำสบู่ หรือแอลกอฮอล์เจล
รักษาระยะห่างกับคนอื่น – เว้นระยะห่างอย่างน้อย 1.5 เมตร
หลีกเลี่ยงสถานที่อากาศไม่ถ่ายเท – ไม่ไปในสถานที่แออัด หรือมีการรวมตัวกันเป็นจำนวนมาก
ระมัดระวังและสังเกตอาการอยู่เสมอ – สังเกตอาการของตัวเองและคนรอบข้าง
วัคซีนโควิด19 ทำไมต้องฉีด?
สุดท้ายนี้ COVID-19 ยังคงจะต้องอยู่กับเราไปอีกนาน หมอหวังเป็นอย่างยิ่งว่า เราทุกคนจะเป็นส่วนหนึ่งของการยุติโรคระบาดโควิด ทำให้โรคโควิดกลายเป็นไข้หวัดธรรมดา ด้วยการที่เราทุกคนไปฉีดวัคซีนกันนะคะและจำไว้อยู่เสมอนะคะ “โรคติดเชื้อ ดีที่สุด คือ ไม่ติดเชื้อ”
ขอให้มีสุขภาพแข็งแรง และเราจะผ่านวิกฤติโรคระบาดนี้ไปด้วยกัน